Posts Tagged ‘social media’

การเรียนแบบโครงงาน

8 ขั้นตอนการเรียนแบบโครงงานร่วมกับโซเชียลมีเดีย

เพื่อส่งเสริมทักษะในศตวรรษที่ 21

The 8 Steps of a Project-Based Learning with Social Media

to Enhance 21st Century Skills.

รุจโรจน์  แก้วอุไร

ศรัณยู  หมื่นเดช

Department of Educational Technology and Communications

Faculty of Education, Naresuan University

บทคัดย่อ

การเรียนแบบโครงงานเป็นรูปแบบการเรียนหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับการเรียนในศตวรรษที่ 21 เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่เน้นการปฏิบัติตามความสนใจของนักเรียน มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอนอย่างแพร่หลาย เครื่องมือตัวหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานคือ โซเชียลมีเดีย (Social Media) การเรียนแบบโครงงานร่วมกับโซเชียลมีเดียจะเริ่มจากการเตรียมความพร้อมของครู นักเรียน วัสดุอุปกรณ์ และโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียน จากนั้นนักเรียนเลือกปัญหาที่จะศึกษา โดยมีครูเป็นผู้จุดประกายและให้คำปรึกษา นักเรียนและครูร่วมกันวางแผนการทำโครงงานในรูปแบบของแผนปฏิบัติการหรือเค้าโครงโครงงาน โดยกำหนดวัตถุประสงค์ สมมติฐาน ขอบเขตการศึกษา และวิธีการศึกษา ศึกษาหลักการทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ลงมือปฏิบัติตามแผน โดยเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม เขียนรายงาน เผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะ และประเมินโครงงาน ซึ่งในแต่ละขั้นตอนนักเรียนสามารถเลือกใช้โซเชียลมีเดียที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของนักเรียนในยุคใหม่ การเรียนแบบโครงงานร่วมกับโซเชียลมีเดียจะช่วยพัฒนาสมรรถนะและทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนได้เป็นอย่างดี

คำสำคัญ : การเรียนแบบโครงงาน, โซเชียลมีเดีย, ทักษะในศตวรรษที่ 21

Abstract

Project-Based Learning is the right one for learning in the 21st century due to compliance activities focus students’ attention. Technology has been widely used in the teaching and learning process. One tool that can be used in Project-Based Learning is Social media. Project-Based Learning with social media starts from the preparation of teacher, student, materials and school infrastructure. Students then select the issues to be studied. The teacher inspire and consulting. Students and teachers jointly plan the project in the form of an action plan or layout project. By defining the scope, objectives, assumptions and methods.Subsequently, study the principle, theoriesinvolved, follow the planned, collect the required data, analyzethe data, find for more information, write reports, publish their work. and evaluate projects. Each step, students can choose to use social media as applied to reflect the characteristics of the students in mind. Project-Based Learning with social media will help enhance the competencies and skills of students in the 21st century as well.

Keywords : Project-Based Learning, Social Media, 21st Century Skills

บทนำ

          โลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต  วิธีการที่เด็ก ๆ สื่อสารกับเพื่อน ๆ การรับรู้และแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร และการดำเนินชีวิต แตกต่างจากในยุคของพ่อแม่หรือครูเป็นอย่างมาก  ไม่เฉพาะเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น แต่รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วไร้ขีดจำกัด หน้าที่ของผู้ใหญ่คือการเตรียมเด็กเหล่านี้ให้พร้อมสำหรับงานและอาชีพใหม่ ๆ ที่จะเกิดในอนาคตและอาจไม่มีอยู่ในปัจจุบัน เด็ก ๆ จึงต้องได้รับการฝึกฝนทักษะที่จำเป็น เช่น ทักษะการอ่าน การเขียน และการคิดคำนวณ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การแก้ปัญหา การสร้างสรรค์และนวัตกรรม ความเข้าใจความต่างวัฒนธรรม ความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม ภาวะผู้นำ การสื่อสาร สารสนเทศ การเท่าทันสื่อ คอมพิวเตอร์เทคโนโลยีสารสนเทศ อาชีพและการเรียนรู้ เป็นต้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นพลเมืองในยุคศตวรรษที่ 21 ต่อไป (วิจารณ์ พานิช,2555; Taylor & Fratto, 2012)

การเรียนการสอนในยุคใหม่นี้จึงต้องเปลี่ยนแปลงไป ห้องเรียนธรรมดาถูกเปลี่ยนให้เป็นห้องเรียนที่มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้อย่างไม่มีขีดจำกัด วิธีการเรียนการสอนเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบที่ส่งเสริมทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 มากขึ้น ซึ่งการสอนแบบเดิมไม่สามารถทำให้เด็ก ๆ เกิดทักษะเหล่านี้ วิธีการเรียนการสอนที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้งและมีการนำไปทดลองใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบันคือ การเรียนแบบโครงงานหรือการเรียนโดยโครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) ผู้นำด้านการศึกษาหลายท่านได้เสนอว่าการสอนแบบนี้ว่าเป็นวิธีการสอนที่ดีที่สุด (Barell, 2010; Baron, 2011; Coal and Wasburn Moses, 2010; Larmer and Mergendoller, 2010 cited inBender, 2012)

การเรียนแบบโครงงาน (Project-Based Learning) หรือบางครั้งเรียกกว่า PBL มีความคล้ายคลึงกับการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning) โดยทั้งสองวิธีใช้แนวคิดการเรียนรู้แบบสืบเสาะด้วยตนเองผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกัน แต่มีข้อต่างกันเล็กน้อย คือ การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานจะเน้นที่กระบวนการแก้ไขปัญหา ส่วนการเรียนรู้แบบโครงงานจะเน้นไปที่การลงมือปฏิบัติ การเรียนแบบโครงงานเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติตามความสนใจของนักเรียนเอง เพื่อค้นพบสิ่งใหม่หรือความรู้ใหม่ ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยข้อค้นพบใหม่นั้นนักเรียนและครูไม่เคยทราบหรือมีประสบการณ์มาก่อน โดยมีครูหรือผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษา นักเรียนที่เรียนด้วยกระบวนการนี้จะมีแรงจูงใจในการแก้ไขปัญหาสูง เชื่อมโยงความรู้กับโลกความเป็นจริง นักเรียนจะเป็นผู้เลือกวิธีการค้นหาคำตอบ กำหนดแหล่งข้อมูล จากนั้นจะลงมือปฏิบัติและค้นคว้าด้วยตนเอง นักเรียนจะสามารถบูรณาการความรู้และทักษะในการแก้ปัญหา สรุปข้อค้นพบ และสร้างความรู้ใหม่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ (ปรียา บุญญสิริ, 2553; พิมพ์พันธ์ เดชะคุปต์, พเยาว์ ยินดีสุข และราเชน มีศรี, 2553; วัฒนา มัคคสมัน, 2554; ลัดดา ภู่เกียรติ,2552; Bender, 2012; Moursund, 2009)

ในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเรียนรู้แบบโครงงาน ครูมอบหมายให้นักเรียนสืบค้นข้อมูลสารสนเทศจากเว็บไซต์ แต่ครูเองอาจยังไม่มีความชำนาญมากพอในการนำเครื่องมือใหม่ ๆ มาใช้ในการเรียนการสอน เช่น วิกิ บล็อก กูเกิลแอพ ยูธูป เฟสบุ๊ค เป็นต้น หรือที่ในปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “โซเชียลมีเดีย (Social Media)” โดยแอพพลิเคชันเหล่านี้สร้างอยู่บนแนวคิดพื้นฐานและเทคโนโลยีของยุคเว็บ 2.0 ซึ่งในขณะนี้มีบทบาทมากในการเรียนการสอนโดยทั่วไปรวมทั้งการเรียนการสอนแบบโครงงาน ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งข้อมูลสารสนเทศให้แก่นักเรียนเท่านั้น แต่ยังช่วยให้นักเรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง ช่วยฝึกฝนทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เรียนรู้ร่วมกัน ทำงานได้จากทุกที่ทุกเวลา และสามารถแบ่งปันความรู้และผลงานไปได้ทั่วโลกอีกด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ครูผู้สอนแบบโครงงานจำเป็นต้องใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดียได้อย่างคล่องแคล่ว และออกแบบการเรียนการสอนโดยนำเครื่องมือโซเชียลมีเดียเข้ามาร่วมในแต่ละขั้นตอนของการเรียนการสอนแบบโครงงาน เพื่อช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน (Bender, 2012)

แนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานร่วมกับโซเชียลมีเดีย

          การทำโครงงานเป็นการดำเนินงานตามขั้นตอนวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ครูผู้สอนจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ และขั้นตอนของโครงงานที่ชัดเจน สามารถออกแบบการจัดการเรียนการสอน  ประยุกต์ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน เพื่ออำนวยความสะดวกและเสริมสร้างทักษะที่สำคัญของนักเรียน (พิมพันธ์ เดชะคุปต์, พเยาว์ ยินดีสุข และ ราเชน มีศรี,2553; ลัดดา ภูเกียรติ,2552) โดยการเรียนแบบโครงงานมีขั้นตอนการดำเนินการที่สำคัญ 8 ขั้นตอน ดังนี้

ภาพที่ 1 ขั้นตอนการเรียนแบบโครงงาน

 

ขั้นตอนที่ 1 เตรียมความพร้อม

ในการเรียนการสอนแบบโครงงาน สิ่งสำคัญอันดับแรกคือครูต้องตระหนักถึงความจำเป็นและคุณค่าของการสอนแบบโครงงาน ปรับเปลี่ยนแนวคิดการสอนแบบเดิมที่ครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้โดยตรงเป็นการสอนที่ครูเป็นผู้ให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวก ต้องมีความเชื่อว่านักเรียนสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ วิธีการและเทคนิคการสอนแบบโครงงานอย่างลุ่มลึก จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ เตรียมวัสดุอุปกรณ์ จัดสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกห้องเรียนให้เหมาะกับการทำกิจกรรม และจัดหาแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อเชื่อมโยงประสบการณ์กับชีวิตจริง (ลัดดา ภูเกียรติ, 2552)

ครูต้องกำหนดหรือตัดสินใจว่าจะจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานในลักษณะใดจึงจะสะดวกและเหมาะสมที่สุด อาทิเช่น การดำเนินการเรียนรู้แบบโครงงานในบางเรื่องอาจเหมาะสำหรับปฏิบัติเป็นรายบุคคลมากกว่าเป็นกลุ่ม ถ้าหากเป็นการทำงานกลุ่ม นักเรียนจะได้ฝึกการใช้ทักษะการทำงานร่วมกัน และทักษะการเป็นผู้นำและความรับผิดชอบต่อกลุ่ม ครูอาจใช้การเรียนการสอนแบบโครงงานเฉพาะบางเนื้อหาหรือบางวิชา แทนที่จะทำโครงงานในทุกเนื้อหาหรือทุกวิชา ขึ้นอยู่กับความสะดวกและความเหมาะสมของแต่ละบริบท จัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็นต้องใช้  โดยเฉพาะเครื่องมือโซเชียลมีเดีย ซึ่งครูจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับความสามารถและประโยชน์ของโซเชียลมีเดียแต่ละชนิดเป็นอย่างดี เพื่อที่ครูจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานในแต่ละขั้นตอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การเตรียมความพร้อมของนักเรียนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ครูควรเตรียมนักเรียนให้มีความรู้และทักษะเบื้องต้นในการทำโครงงาน รวมถึงทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ครูจะนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างราบรื่น (Bender, 2012)

ขั้นตอนที่ 2 เลือกปัญหาที่จะศึกษา

          การเลือกปัญหาหรือหัวข้อที่จะศึกษาเพื่อทำโครงงาน เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการทำโครงงาน นักเรียนควรเป็นผู้เลือกปัญหาด้วยตนเอง ปัญหาที่จะศึกษานั้นอาจมาจากความสนใจ การสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ประสบการณ์ที่เคยพบ หนังสือ หรือวารสารต่าง ๆ ครูต้องจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ออกไปสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัวและชุมชุนเพื่อจุดประกายความอยากรู้อยากเห็น  ซึ่งเป็นการฝึกการใช้ทักษะการสังเกต ประสบการณ์จากการสังเกตเหล่านี้อาจเป็นสภาพแวดล้อมจริง หรืออาจเป็นสภาพแวดล้อมเสมือนก็ได้ ซึ่งในยุคดิจิตอลนี้โซเชียบมีเดียเป็นเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ในการทำให้ผู้เรียนเกิดคำถามหรือประเด็นปัญหาจากประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ต้องการค้นหาคำตอบ เช่น เว็บไซต์ Youtube ที่บรรจุวิดีโอจากทั่วโลก  ครูสามารถเลือกใช้วิดีโอเหล่านี้มาช่วยจุดประกายความคิดเพื่อให้นักเรียนเห็นประเด็นปัญหาและสามารถกำหนดหัวข้อที่ตนเองสนใจได้ หากเป็นการทำโครงงานลักษณะกลุ่ม สมาชิกในกลุ่มต้องตกลงกันภายในกลุ่มว่าสนใจที่จะทำโครงงานเรื่องใดและนำเสนอต่อครู เพื่อร่วมกันอภิปรายถึงความน่าสนใจและความเป็นไปได้อีกครั้งหนึ่ง โดยในการอภิปรายอาจใช้การระดมสมองผ่านเครื่องมือโซเชียลมีเดียอย่างเฟสบุค (Facebook) ที่อนุญาตให้สมาชิกในกลุ่มสามารถแสดงความคิดเห็น สนทนาผ่านการพิมพ์ข้อความ และลงคะแนนเสียงเพื่อตัดสินใจเลือกเรื่องที่จะทำโครงงาน โดยอาจนำเสนอเรื่องที่กลุ่มตนเองสนใจไว้บนบล็อก (Blog) ของกลุ่ม เพื่อให้ครูและเพื่อนกลุ่มอื่นได้ทราบและช่วยแนะนำหรือแสดงความคิดเห็น ทั้งหมดนี้นักเรียนจะได้ใช้ทักษะการสื่อสารในการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและแสดงความคิดเห็นของตนเอง ได้ใช้ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณในการให้เหตุผลสนับสนุนความคิดเห็นของตนองในการตัดสินใจเลือกเรื่องที่ต้องการจะศึกษา หลังจากนักเรียนแต่ละกลุ่มจะตั้งชื่อเรื่องโครงงาน ซึ่งชื่อเรื่องจะต้องสื่อถึงงานที่จะทำให้ชัดเจน กะทัดรัด และควรบอกรายละเอียดเกี่ยวกับงานที่จะทำให้มากที่สุด (ลัดดา ภู่เกียรติ, 2552; ปรียา บุญญสิริ,2553; บุญเลี้ยง ทุมทอง,2550; VanCleave, 1997 อ้างถึงใน ปรียา บุญญสิริ,2553; Bender, 2012)

ภาพที่ 2 ตัวอย่างบล็อก WordPress.com

ขั้นตอนที่ 3 วางแผนการทำโครงงาน

          การวางแผนการทำโครงงานจะช่วยทำให้โครงงานดำเนินไปด้วยความราบรื่น รัดกุม เป็นไปตามลำดับขั้นตอน โดยนักเรียนต้องร่วมกันกำหนดแผนการดำเนินงานอย่างคร่าว ๆ คือ กำหนดวัตถุประสงค์ สมมติฐาน ขอบเขตของการศึกษา วิธีการที่จะศึกษา ศึกษาค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้อง และเสนอเค้าโครงของโครงงานต่อครูผู้สอน โดยครูผู้สอนมีบทบาทหน้าที่ในการให้คำปรึกษาในการดำเนินงานของผู้เรียนในทุกขั้นตอน (ปรียา บุญญสิริ, 2553; บุญเลี้ยง ทุมทอง, 2551; สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2550)

          การวางแผนในขั้นตอนแรกคือนักเรียน “กำหนดวัตถุประสงค์ของโครงงาน” ซึ่งเป็นการกำหนดเป้าหมายปลายทางของการเรียนรู้ที่ต้องการให้เกิดจากการทำโครงงานของนักเรียน ต้องเขียนให้ชัดเจนสอดคล้องกับชื่อโครงงาน และต้องเป็นสิ่งที่นักเรียนอยากทราบคำตอบจากการทำโครงงานนั้น หากเป็นการทำโครงงานเป็นกลุ่ม นักเรียนแต่ละกลุ่มต้องร่วมกันอภิปรายทบทวนหัวข้อที่ตนเองสนใจว่าต้องการทราบอะไรบ้าง เพื่อนำมาเป็นวัตถุประสงค์ของโครงงาน การกำหนดเป้าหมายจะช่วยให้นักเรียนรู้จักบริหารจัดการเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย กำหนดกลยุทธ์และเวลาในการทำให้บรรลุเป้าหมายนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นขั้นเริ่มต้นของการฝึกทักษะการเรียนรู้ด้วยการกำกับตนเองของ โดยครูใช้คำถามกระตุ้นให้นักเรียนคิดถึงสิ่งที่ต้องการจากเรื่องนั้น ๆ เช่น นักเรียนอยากรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ นักเรียนอยากรู้ไปเพื่ออะไร นักเรียนอยากสร้างหรือประดิษฐ์อะไรและเพื่ออะไร เป็นต้น  สุดท้ายครูและนักเรียนจะร่วมกันพิจารณาถึงความชัดเจนเข้าใจง่าย ความสอดคล้องกับชื่อโครงงาน และความสมบูรณ์ของวัตถุประสงค์ของโครงงานอีกครั้งหนึ่ง นักเรียนจะได้ฝึกการใช้ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ในการให้เหตุผลที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนความคิดของตนเองและตั้งคำถามที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาของโครงงาน โดยการกำหนดวัตถุประสงค์ต้องชัดเจนและสอดคล้องกับเรื่องที่ศึกษา (พิมพันธ์ เดชะคุปต์, พเยาว์ ยินดีสุข และ ราเชน มีศรี, 2553; บุญเลี้ยง ทุมทอง, 2550; ลัดดา ภูเกียรติ, 2552; The Partnership for 21st Century Skills, 2009)

ในขั้นตอนนี้ครูอาจใช้วิกิสเปซส์ (Wikispaces)เป็นพื้นที่สำหรับสร้าง แก้ไข และแสดงวัตถุประสงค์ของแต่ละกลุ่ม โดยวิกิสเปซส์มีลักษณะคล้ายเว็บไซต์อย่างง่ายหรือบล็อก แต่พิเศษกว่าตรงที่วิกิสเปซส์อนุญาตให้สมาชิกภายในกลุ่มสามารถสร้างและแก้ไขเนื้อหาร่วมกันได้ มีพื้นที่ให้ใช้ในการติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการสร้างเครือข่ายและสร้างเนื้อหา ซึ่งเครื่องมือโซเชียลมีเดียประเภทนี้จะช่วยส่งเสริมทักษะการทำงานร่วมกันของนักเรียนได้เป็นอย่างดี และสามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายภายใต้เงื่อนไขที่ผู้บริการกำหนด (Poore, 2013)

ภาพที่ 3 ตัวอย่างเว็บไซต์ Wikispaces

          เมื่อทราบวัตถุประสงค์ของโครงงานที่ชัดเจนแล้ว นักเรียนจะ “กำหนดสมมติฐานของโครงงาน”เพื่อเป็นการคาดคะเนคำตอบของปัญหาที่สนใจอย่างมีหลักและเหตุผล ตามหลักการทฤษฎี เป็นการใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และทักษะการคิด  นั่นคือ ทักษะการตั้งสมมติฐาน ซึ่งเกิดจากการที่นักเรียนทบทวนความรู้เดิม สรุปอ้างอิงโดยอาศัยความรู้เดิมที่เกี่ยวข้อง เพื่อคาดคะเนสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งจะทำให้การออกแบบการศึกษามีความชัดเจน สมาชิกภายในกลุ่มต้องพูดคุยกันถึงคำตอบที่น่าจะเป็นไปได้ โดยอาจมีได้หลายคำตอบ และเขียนคำตอบที่เลือกไว้เพื่อรอการพิสูจน์ นักเรียนจะได้ใช้ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ในการให้เหตุผลสนับสนุนสมมติฐานของตนเอง วิเคราะห์ความเป็นไปได้ และตัดสินใจเลือกสมมติฐานที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด  ครูต้องพยายามใช้คำถามกระตุ้นให้นักเรียนพยายามคาดคะเนคำตอบล่วงหน้า (พิมพันธ์ เดชะคุปต์, พเยาว์ ยินดีสุข และ ราเชน มีศรี, 2553; บุญเลี้ยง ทุมทอง, 2550; ลัดดา ภูเกียรติ, 2552; The Partnership for 21st Century Skills, 2009)

การร่วมกันอภิปรายและกำหนดสมมติฐานของโครงงานของสมาชิกภายในกลุ่มสามารถนำเครื่องมือโซเชียลมีเดียมาใช้เพื่อให้สมาชิกทุกคนสามารถสร้างและแก้ไขสมมติฐานร่วมกันได้ อาทิเช่น Wikispace, Google Site, Google Drive, SkyDrive เป็นต้น นักเรียนจะได้ใช้ทักษะการทำงานร่วมกัน โดยผู้ให้บริการบางรายจะมีกล่องสนทนา (Chat Box) สำหรับให้สมาชิกใช้พูดคุยอภิปรายร่วมกัน และสุดท้ายครูอาจให้แต่ละกลุ่มนำเสนอสมมติฐานของกลุ่มตนเอง เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ความเป็นได้และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากครูอีกครั้ง นักเรียนจะได้ฝึกทักษะการสื่อสารจากการอภิปรายภายในกลุ่มและการนำเสนอสมมติฐานของกลุ่มให้ครูและเพื่อนกลุ่มอื่นฟัง (The Partnership for 21st Century Skills, 2009)

          หลังจากที่นักเรียนและครูอภิปรายร่วมกันจนได้ข้อสรุปของสมมติฐานแล้ว จึงดำเนินการ “กำหนดขอบเขตการศึกษาของโครงงาน” ให้ชัดเจนเพื่อทำให้ได้ผลการศึกษาที่น่าเชื่อถือ ได้แก่ การกำหนดประชากร กลุ่มตัวอย่าง และตัวแปรที่ศึกษา ประชากรที่ศึกษาอาจเป็นคน สัตว์ หรือพืช รวมทั้งกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างให้เหมาะสมเป็นตัวแทนของประชากร  กำหนดตัวแปรต้น ตัวแปรตาม และตัวแปรควบคุมให้ชัดเจน จะทำให้สื่อความหมายให้ผู้ฟังและผู้อ่านเข้าใจตรงกัน การกำหนดขอบการของการทำโครงงานนี้สมาชิกอาจร่วมกันอภิปรายและกำหนดขอบเขตในบล็อกหรือวิกิสเปซส์ของกลุ่มตนเอง ครูสามารถยกตัวอย่างการกำหนดขอบเขตการทำโครงงานให้นักเรียนเข้าใจโดยนำเสนอไว้บนบล็อกหรือวิกิสเปซส์ของรายวิชา เมื่อนักเรียนกำหนดขอบเขตการศึกษาได้แล้ว ครูให้แต่ละกลุ่มนำเสนอขอบเขตการทำโครงงานของตนเองทีละกลุ่ม เพื่อร่วมกันอภิปรายและให้ขอเสนอแนะแก่นักเรียน ในขั้นตอนนี้นักเรียนจะได้ฝึกทักษะการทำงานร่วมกันของสมาชิกในกลุ่ม และใช้ทักษะการสื่อสาร ในการอธิบายเหตุผลของตนเองและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ใช้ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณในการใช้เหตุผลในการกำหนดขอบเขตการศึกษา วิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างขอบเขตการศึกษาและตัวแปรแต่ละตัว และประเมินของขอบเขตการศึกษาอย่างรอบด้าน (พิมพันธ์ เดชะคุปต์, พเยาว์ ยินดีสุข และ ราเชน มีศรี, 2553)

เมื่อกำหนดขอบเขตอย่างรอบด้านด้านแล้ว นักเรียนจะร่วมกัน “กำหนดวิธีการศึกษา” เพื่อระบุวิธีการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงงาน โดยกำหนดแหล่งข้อมูล ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือและอุปกรณ์ วิธีการสร้างเครื่องมือ วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล ระยะเวลาในการศึกษา วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล และวิธีการนำเสนอ โดยระบุเป็นขั้นตอนให้ชัดเจนและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง  จากวัตถุประสงค์และสมมติฐานนักเรียนต้องคิดหาวิธีการที่จะหาคำตอบที่หลากหลาย เลือกวิธีที่เหมาะสม ครูต้องแนะนำวิธีการหาคำตอบที่หลากหลาย เพื่อเลือกให้เหมาะสมกับเรื่องที่ศึกษา โดยคำนึงถึงข้อจำกัดต่าง ๆ (พิมพันธ์ เดชะคุปต์, พเยาว์ ยินดีสุข และ ราเชน มีศรี, 2553; ลัดดา ภูเกียรติ, 2552)

ในขั้นตอนนี้นักเรียนจะได้ฝึกทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณในการใช้เหตุผลที่หลากหลายในการกำหนดและเลือกใช้วิธีการดำเนินโครงงาน รวมถึงการคิดหาวิธีการแก้ปัญหาเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบตามวัตถุประสงค์ของโครงงาน การอภิปรายของสมาชิกภายในกลุ่มไม่ว่าจะด้วยวาจาหรือเขียนลงบนวิกิสเปซส์หรือบล็อกเพื่อหาวิธีการศึกษาที่เหมาะสมนั้น จะช่วยส่งเสริมทักษะการทำงานร่วมกันและทักษะการสื่อสารของ อาจเป็นการระดมสมองในรูปของแผนภาพความคิด (Mind Mapping) โดยใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดียอย่าง Bubbl.us ซึ่งเป็นเครื่องมือที่อนุญาตให้สร้าง แบ่งปัน และร่วมกันเขียนแผนภาพความคิดแบบออนไลน์ สามารถส่งออกในรูปของไฟล์รูปภาพ พิมพ์และนำโค้ดไปใส่ไว้บนบล็อก วิกิสเปซส์ หรือเว็บไซต์อื่นได้ รวมถึงสามารถแบ่งปันผ่านลิงค์ได้โดยตรงอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือแผนภาพความคิดอื่น ๆ ที่ได้รับความนิยมอาทิเช่น Exploratree.org.uk, Mind42 และ Cacoo.com ซึ่งครูและนักเรียนสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมนักเรียน (The Partnership for 21st Century Skills, 2009)

          เมื่อเลือกวิธีการดำเนินการค้นหาคำตอบตามวัตถุประสงค์ของโครงงานเรียบร้อยแล้ว ลำดับต่อไปนักเรียนจะ “ศึกษาหลักการทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง” โดยค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ศึกษา เฉพาะเรื่องที่สำคัญมีความสัมพันธ์กับปัญหาที่จะศึกษา ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพของปัญหาได้เด่นชัดขึ้น นักเรียนจะได้ใช้ทักษะในการสืบค้น วิเคราะห์และประเมินความน่าเชื่อถือเพื่อคัดกรองข้อมูลความรู้ที่ได้ นั่นคือการฝึกฝนทักษะการรับรู้ข้อมูลสารสนเทศ โดยครูจะเป็นผู้คอยแนะนำและชี้แนะหลักการวิเคราะห์และเลือกใช้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ รวมถึงได้ฝึกทักษะการอ่านในการศึกษาเอกสาร ซึ่งนักเรียนสามารถใช้เทคโนโลยีสารสารสนเทศเป็นเครื่องมือในค้นหาและจัดการข้อมูล อาทิเช่น การใช้เครื่องมือสืบค้นข้อมูลยอดนิยมอย่าง Google ให้สามารถค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วและตรงความต้องการมากขึ้น เมื่อสืบค้นข้อมูลแล้วนักเรียนสามารถใช้บริการเก็บที่อยู่เว็บไซต์ (SocialBookmarking) เช่นเว็บไซต์ Delicious.com, Diido.com หรือ Connotea.org ในการบันทึกและแบ่งปันเว็บไซต์ให้สมาชิกในกลุ่ม หรือหากไม่ต้องการข้อมูลทั้งเว็บไซต์ แต่ต้องการเพียงบางประโยคหรือรูปภาพหรือวิดีโอที่อยู่บนเว็บไซต์นั้น นักเรียนสามารถใช้บริการคลิปปิ้ง (Clippings) อาทิเช่น Clipmarks หรือ Evernote เป็นต้น เพื่อบันทึกสิ่งที่ต้องการบางส่วน โดยข้อความ รูปภาพ หรือวิดีโอที่นักเรียนบันทึกสามารถแบ่งปันให้กับเพื่อนในกลุ่มได้ และยังสามารถนำโค้ดไปใส่ไว้บนวิกิหรือบล็อกของกลุ่มได้อีกด้วย การใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดียเหล่านี้ครูควรเตรียมความพร้อมเบื้องต้นให้กับนักเรียนก่อนที่จะเริ่มต้นทำโครงงาน (Poore, 2013 p.131-134)

ขั้นตอนหลังจากกำหนดวัตถุประสงค์ สมมติฐาน ขอบเขตการศึกษา กำหนดวิธีการศึกษา และศึกษาหลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องครอบคลุมและชัดเจน นักเรียนจะดำเนินการ “พัฒนาโครงการหรือแผนปฏิบัติงาน” ซึ่งเป็นการจัดทำเค้าโครงของโครงงาน โดยเป็นการนำเอาสิ่งที่นักเรียนและครูร่วมกันคิดและดำเนินการมาตั้งแต่ต้นจนถึงขั้นตอนการวางแผนการทำโครงงานมาเขียนหรือพิมพ์ในลักษณะของเค้าโครงของโครงงาน เพื่อใช้เป็นแผนในการทำโครงงาน ซึ่งโครงการหรือแผนปฏิบัติงานนี้โดยปกติจะประกอบด้วยชื่อโครงงาน ผู้จัดทำหรือคณะผู้จัดทำโครงงาน ชื่อครูหรืออาจารย์ที่ปรึกษา ที่มาและความสำคัญของโครงงาน วัตถุประสงค์ของการทำโครงงาน สมมติฐานของการศึกษา ขอบเขตของการศึกษา วิธีการดำเนินการ ผลที่คาดว่าจะได้รับ แผนปฏิทินการปฏิบัติงาน และเอกสารอ้างอิง นักเรียนสามารถใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดียในการร่วมกันพัฒนาโครงการหรือแผนปฏิบัติการ โดยใช้โซเชียลมีเดียประเภทสร้างและแก้ไขงานเอกสารเป็นเครื่องมือในการฝึกทักษะการทำงานร่วมกันของสมาชิกภายในกลุ่ม อาทิเช่น กูเกิ้ลไดฟ์ หรือ สกายไดฟ์ ซึ่งสมาชิกในกลุ่มสามารถร่วมกันสร้างและแก้ไขเอกสารได้พร้อมกัน และยังสามารถแบ่งปันให้กับครูผู้สอนเพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของโครงการและให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งในขั้นตอนการพัฒนาโครงการหรือแผนปฏิบัติงานนี้ นักเรียนจะได้ฝึกการกำหนดเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมและกำหนดเกณฑ์ที่จับต้องไม่ได้ การกำหนดกลยุทธ์การดำเนินโครงงานให้สมดุลทั้งระยะสั้นและระยะยาว การบริหารจัดการเวลาในการทำงานที่มีประสิทธิ์ภาพ สิ่งเหล่านี้เป็นการจัดการเป้าหมายและเวลาซึ่งเป็นทักษะย่อย ๆ ของทักษะความคิดริเริ่มและการกำกับตนเอง ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในการวางแผนการทำงานและเรียนรู้ด้วยตนเอง (พิมพันธ์ เดชะคุปต์, พเยาว์ ยินดีสุข และ ราเชน มีศรี, 2553; Partnership for 21st Century Skills, 2009)

ขั้นตอนที่ 4 ลงมือปฏิบัติตามแผน

          นักเรียนจะเริ่มลงมือปฏิบัติตามแผนด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูล ในขั้นตอนนี้เป็นขั้นเริ่มต้นของการตรวจสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้ด้วยการลงมือปฏิบัติจนค้นพบคำตอบด้วยตนเอง  นักเรียนจะเริ่มลงมือปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการหรือโครงการที่ได้กำหนดเอาไว้ ในกรณีของงานกลุ่มต้องมีการแบ่งงานและกำหนดบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน ครูมีหน้าที่จัดเตรียมแหล่งข้อมูล แหล่งเรียนรู้สำหรับการศึกษาของนักเรียน โดยเฉพาะอย่ายิ่งการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตซึ่งปัจจุบันมีโครงงานจำนวนน้อยมากที่ไม่จำเป็นต้องใช้งานอินเตอร์เน็ต อาจเป็นไปได้ที่โครงงานจะมีการใช้เว็บเควสท์ (Webquest)ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ประกอบด้วยการมอบหมายงานในการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศจากเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับโครงงาน คำถามที่ช่วยแนะแนวทางในการสืบค้น หรือประเด็นที่ครูคิดว่านักเรียนควรศึกษา โดยนักเรียนจะสืบค้นข้อมูลจากลิงค์ที่ครูได้ศึกษามาแล้ว หรืออาจมีสิ่งอื่นเพิ่มเติมที่จะช่วยให้นักเรียนสามารถทำโครงงานได้สำเร็จ ตัวอย่างเว็บไซต์ที่ช่วยในการสร้างเว็บเควส เช่น Internet4classrooms.com, Kn.pacbell.com, Questgarden.com, Teacherweb.com, Webquest.org, Zunal.com เป็นต้น  ซึ่งเว็บไซต์เหล่านี้มีทั้งแบบมีค่าใช้จ่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมีความสามารถแตกต่างกันไป ครูสามารถเลือกใช้ได้ตามความต้องการ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2550; ลัดดา ภูเกียรติ, 2552; Bender, 2012; Okolo, Englert, Bouck, & Heutsche, 2007; Skylar et al., 2007 cited in Bender, 2012 p. 95)

ภาพที่ 4 ตัวอย่างการสืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์

นอกจากนี้ครูควรสังเกตการทำงานของนักเรียนแต่ละคนและบันทึกเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นโครงงาน ให้คำแนะนำ อำนวยความสะดวก กระตุ้นและให้กำลังใจระหว่างการทำงานอย่างสม่ำเสมอ ในขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูลนี้ นักเรียนจะได้ใช้ทักษะ ที่หลากหลาย อาทิเช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การสอบถาม การวัด การใช้อุปกรณ์และเครื่องมือ การใช้ตัวเลข การบันทึกผล การค้นหาและเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งด้านการใช้เวลาและแหล่งข้อมูล การประเมินข้อมูลสารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณ การใช้ข้อมูลสารสนเทศได้อย่างถูกต้องแม่นยำและสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาที่มีอยู่ การจัดการข้อมูลสารสนเทศที่ได้มาจากหลายแหล่ง เข้าใจถึงจริยธรรมและกฎหมายในการเข้าถึงและใช้ข้อมูลสารสนเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการใช้ทักษะการรับรู้ข้อมูลสารสนเทศ ซึ่งเป็นทักษะความสามารถที่จำเป็นในขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูล รวมถึงในการดำเนินชีวิตในยุคสมัยใหม่ที่มีข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาลที่สามารถเข้าถึงได้ (ลัดดา ภูเกียรติ, 2552; บุญเลี้ยง ทุมทอง, 2550; Partnership for 21st Century Skills, 2009)

เนื่องจากในกระบวนการทำโครงงานไม่ได้จำกัดอยู่ในเฉพาะห้องเรียน นักเรียนสามารถใช้เวลานอกเวลาเรียนในการร่วมกันทำโครงงานได้ ดังนั้นการติดต่อสื่อสารที่สะดวกรวดเร็วและประหยัดจึงเป็นสิ่งจำเป็น การสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตโดยใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดในยุคดิจิตอลนี้ โดยนักเรียนสามารถใช้โซเชียลมีเดียประเภทรับ-ส่งข้อความสั้น ๆ รูปภาพ วิดีโอลิงค์ หรือไฟล์เอกสารถึงกัน (Instant Messaging (IM)) หรืออาจเลือกใช้โซเชียลมีเดียประเภทที่สื่อสารได้ทั้งข้อความตัวหนังสือ เสียง และวิดีโอ เช่น สไกป์ (Skype) กูเกิลแฮงค์เอาท์ (Google Hangout) หรือไลน์ (Line) ในการติดต่อสื่อสารกันภายในกลุ่ม หรือสื่อสารกับครูที่ปรึกษา ใช้ในการประชุมกลุ่ม อภิปราย ระดมสมอง สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ครูสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการให้ผลย้อนกลับหรือคำแนะนำแก่นักเรียน หรือใช้ในการนำเสนอด้วยวาจาผ่านคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ หรือสื่อสารผ่านทวิตเตอร์ (Twitter) ซึ่งจัดเป็นบล็อกขนาดเล็ก (Micro-Blogging) เป็นบริการที่อนุญาตให้พิมพ์ข้อความสั้น ๆ ได้ครั้งละไม่เกิน 140 ตัวอักษร ซึ่งสามารถใช้เป็นสื่อกลางในการอภิปรายนอกเวลาเรียน ให้คำแนะนำหรือผลย้อนกับแก่นักเรียน แบ่งปันลิงค์หรือแหล่งข้อมูล ถาม-ตอบปัญหา แสดงความคิดเห็น ประกาศหรือเตือนความจำ ซึ่งเครื่องมือโซเชียลมีเดียเหล่านี้ทำให้เกิดการสร้างความรู้ผ่านสังคม การสนทนา การร่วมมือกันในการเรียนรู้ การทำงานร่วมกัน การสร้างเครือข่าย และการสร้างชุมชน อีกทั้งยังสามารถส่งเสริมกระบวนการของความคิดสร้างสรรค์และการประเมินค่า และที่สำคัญถ้าหากมีการระดมสมองร่วมด้วยโดยผ่านการพูดคุย จะนำไปสู่การคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ขึ้นด้วย ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 (Poore, 2013)

นอกเหนือจากเครื่องมือโซเชียลมีเดียที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารแล้ว ในขั้นตอนนี้ยังสามารถนำโซเชียบมีเดียประเภทอื่นมาช่วยในการทำโครงงานในยุคดิจิตอลให้ประสบความสำเร็จและเกิดทักษะที่ต้องการได้ เช่น เครื่องมือประเภทบุ๊คมาคกิ้ง คลิปปิ้ง มายด์แม็บปิ้ง ซึ่งได้กล่าวถึงไว้ในขั้นตอนก่อนหน้านี้ และถ้าหากมีขั้นตอนที่จำเป็นต้องทำการสำรวจความคิดเห็น สามารถนำโซเชียลมีเดียประเภทโพลหรือเซอร์เวย์ (Pollsor Surveys) มาใช้งานได้ โดยโพลออนไลน์อาจมีลักษะโครงสร้างอย่างง่ายที่เป็นการถามความคิดเห็นและข้อมูลในลักษณะที่ต้องการคำตอบเพียง “ใช่หรือไม่ใช่” หรือเป็นตัวเลือก หรือในกรณีที่ต้องการข้อมูลเชิงคุณภาพอาจอยู่ในลักษณะของคำถามปลายเปิด โดยให้นักเรียนสร้างและใส่ไว้บนวิกิสเปซส์หรือบล็อกของตนเอง แล้วนำไปโพสไว้ในเว็บไซต์อื่น ๆ หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ค เช่น เฟสบุค (Facebook) กูเกิ้ลพลัส (Google+) กระดานสนทนา (Forum หรือ Webboard) เป็นต้น ครูอาจใช้โพลเป็นการทดสอบ (Quiz) ความเข้าใจของนักเรียน หรือใช้ในการสำรวจผลย้อนกลับจากนักเรียนในการเรียนการสอน ตัวอย่างของโซเชียลมีเดียที่เป็นที่นิยมในการทำโพลออนไลน์ เช่น Polldaddy.com, Vizu.com, ServeyMonkey.com, Zoomerang(Poore, 2013) หรือเว็บไซต์ของประเทศไทยอย่าง Surveycan.com เป็นต้น

เมื่อนักเรียนเก็บรวบรวมข้อมูลตามที่ได้วางแผนไว้เรียบร้อยแล้วนักเรียนนำข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวมมาวิเคราะห์ แปลผล และสรุปผลตามขั้นตอนที่ได้วางแผนเอาไว้ การวิเคราะห์ข้อมูลขึ้นอยู่กับประเภทของโครงงาน ถ้าเป็นโครงงานประเภทสำรวจหรือทดลองมักจะใช้สถิติพื้นฐาน เช่น ความถี่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ เป็นต้น ซึ่งครูมีหน้าที่ในการฝึกฝนและให้คำแนะนำวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล  การวิเคราะห์ผลการศึกษาสามารถทำในรูปแบบออนไลน์อัตโนมัติผ่านเว็บไซต์ที่ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ ส่วนใหญ่เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ เช่น การสำรวจความคิดเห็น ความพึงพอใจ เป็นต้น ซึ่งเว็บไซต์ที่ให้บริการทำโพลหรือแบบสำรวจออนไลน์บางเว็บไซต์มีบริการแปลผลข้อมูลให้อัตโนมัติ หรือวิเคราะห์ผ่านเว็บไซต์วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่นเว็บไซต์ Quantitativeskills.com ที่ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติออนไลน์ผ่านเว็บไซต์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้ตั้งแต่สถิติพื้นฐานไปจนถึงสถิติขั้นสูง (ลัดดา ภู่เกียรติ,2552)

ในบางครั้งข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์เป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ เช่น ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ การสังเกต การศึกษาเอกสาร การสืบค้นจากอินเตอร์เน็ต ครูควรฝึกให้นักเรียนวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลแบบอุปนัย การวิเคราะห์โดยการจำแนกชนิดข้อมูล การวิเคราะห์โดยการเปรียบเทียบข้อมูล การวิเคราะห์เชิงเนื้อหาเป็นต้น  ซึ่งครูต้องมีความรู้เกี่ยวกับวิธีการวิเคราะห์เหล่านี้ เพื่อที่จะสามารถแนะนำนักเรียนได้อย่างถูกต้อง นักเรียนอาจใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดียอย่างกูเกิ้ลไดฟ์ในการร่วมกันสร้าง แก้ไขและอภิปรายร่างผลการวิเคราะห์ข้อมูล จากนั้นนำผลการวิเคราะห์และการแปลผลข้อมูลนำเสนอไว้บนเว็บบล็อกของกลุ่ม เพื่อให้ครูช่วยตรวจสอบความถูกต้องและให้คำแนะนำต่อไป (ธีระ สินเดชารักษ์, 2553)

ในขั้นตอนการวิเคราะห์ผล นักเรียนจะได้ฝึกการใช้เหตุผลที่หลากหลายในการอธิบายผลการวิเคราะห์ข้อมูลตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ วิเคราะห์ส่วนย่อยต่าง ๆ ของข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการจำแนกประเภท การจัดกลุ่ม การเรียงลำดับ และการจัดระบบ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นระบบ ฝึกการวิเคราะห์และประเมินหลักฐาน ข้อโต้แย้ง ข้อค้นพบต่าง ๆ ตีความข้อมูลและสร้างข้อสรุปบนพื้นฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลที่ดี แก้ปัญหาที่ไม่คุ้นเคยด้วยวิธีการดั้งเดิมและนวัตกรรมใหม่ ๆ นักเรียนจะได้ใช้ทักษะคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา นอกจากนี้จะได้ฝึกการใช้ทักษะการสื่อความหมาย เช่น การสื่อความหมายรูปแบบตาราง กราฟ ผังกราฟฟิก  การเขียนบรรยาย  เป็นต้น ซึ่งเป็นทักษะเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับพลเมืองในยุคศตวรรษที่ 21 (บุญเลี้ยง ทุมทอง, 2550; พิมพ์พันธ์ เดชะคุปต์, พเยาว์ ยินดีสุข และราเชน มีศรี, 2553; ทวีศักดิ์ จินดานุรักษ์ และธงชัย ชิวปรีชา, ม.ป.ป.;  Partnership for 21st Century Skills, 2009)     

ขั้นตอนที่ 5 ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม

เมื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้แล้ว การตรวจสอบสมมติฐานเบื้องต้นจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นที่สมาชิกภายในทีมจะต้องพูดคุยกัน เพื่อระบุว่าสิ่งที่ต้องการนั้นสมบูรณ์แล้วหรือยัง สิ่งใดยังไม่ได้ทำ หรือปัญหาใดยังไม่ได้คำตอบ และมีข้อมูลใดควรเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ซึ่งในการเรียนแบบโครงงานนักเรียนจะต้องค้นหาและเพิ่มเติมข้อมูลใหม่เข้าไปโครงงานอยู่เสมอ บางครั้งครูอาจช่วยเหลือนักเรียนโดยใช้คำถามในการนำไปสู่ข้อมูลที่นักเรียนควรเพิ่มเติม แสวงหาแหล่งข้อมูล ติดต่อประสานงาน อภิปรายร่วมกับนักเรียนถึงสิ่งที่นักเรียนอยากรู้หรือข้อมูลที่นักเรียนต้องการ และกระตุ้นให้นักเรียนดำเนินการค้นหาคำตอบ กระบวนการในขั้นตอนการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจะย้อนกลับไปที่การวางแผน การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ และสรุปผลจากข้อมูลใหม่ เพื่อให้ได้ผลการทำโครงงานที่ตรงและครอบคลุมวัตถุประสงค์มากที่สุด (วัฒนา มัคคสมัน, 2554; Bender, 2012)

ขั้นตอนที่ 6 เขียนรายงาน

          การเขียนรายงานการทำโครงงานเป็นการเสนอผลการศึกษาค้นคว้าหรือผลการทำโครงงานในรูปแบบของรายงานเป็นเอกสาร เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงปัญหาและเหตุผลที่ทำโครงงาน วิธีการดำเนินการ และผลของการดำเนินการ ซึ่งจะต้องเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย เนื่องจากผู้อ่านไม่สามารถซักถามได้เมื่อมีข้อสงสัย โดยทั่วไปการเขียนรายงานประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ส่วนนำ ส่วนเนื้อหา และส่วนอ้างอิง โดยส่วนนำประกอบด้วยหน้าปกที่แสดงชื่อโครงงาน ชื่อผู้ทำโครงงาน และชื่อครูหรืออาจารย์ที่ปรึกษา สารบัญ และบทคัดย่อที่แสดงถึงเนื้อหาอย่างย่อที่ประกอบด้วยปัญหา วัตถุประสงค์ของการศึกษา วิธีดำเนินการ และผลการศึกษา เพื่อให้ผู้อ่านได้อ่านก่อนที่จะอ่านเนื้อหาทั้งหมดในรายงาน ส่วนเนื้อหาประกอบด้วยที่มาและความสำคัญของโครงงาน วัตถุประสงค์ของการศึกษา หลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง สมมติฐานของการศึกษา ขอบเขตของการศึกษา ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ วิธีการดำเนินการ ส่วนที่เพิ่มเข้ามาในรายงานนอกเหนือจากเค้าโครงของโครงงานคือส่วนของผลการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นส่วนที่นักเรียนนำข้อมูลมาจัดกระทำและนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ตาราง กราฟ แผนภาพ การบรรยาย เป็นต้น รวมถึงการแปลผลหรือตีความความหมายข้อมูล ส่วนของการสรุปผลที่ได้จากการแปลผลหรือตีความหมายข้อมูล และอาจมีการอภิปรายผลด้วยก็ได้ และส่วนสุดท้ายคือข้อเสนอแนะในการศึกษาต่อไปในอนาคต ส่วนอ้างอิงประกอบด้วยส่วนบรรณานุกรม เป็นการบอกแหล่งที่มาของข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ เอกสาร บันทึกการสัมภาษณ์ และแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ที่ผู้ทำโครงงานใช้ในการศึกษาค้นคว้า อ้างอิง โดยใช้รูปแบบสากลหรือรูปแบบที่สถานศึกษากำหนด ซึ่งควรแสดงชื่อผู้แต่ง ชื่อหนังสือ แหล่งที่มา และปีที่จัดพิมพ์ และสุดท้ายคือส่วนภาคผนวก เป็นการนำเสนอข้อมูลที่ไม่สามารถใส่ไว้ในส่วนเนื้อหาได้ (พิมพ์พันธ์ เดชะคุปต์, พเยาว์ ยินดีสุข และราเชน มีศรี, 2553, ลัดดดา ภู่เกียรติ,2552)

แน่นอนว่าในขั้นตอนการเขียนรายงานโครงงานนั้นเป็นการจัดการเอกสาร สมาชิกภายในกลุ่มจะต้องอภิปรายและเขียนรายงานร่วมกัน เครื่องมือโซเชียลมีเดียที่สามารถนำมาใช้ในการจัดการเอกสารนั้นมีอยู่หลายชนิด แต่ที่เป็นที่นิยมใช้งานง่ายและไม่มีค่าใช้จ่ายได้แก่ Google Drive และ Sky Drive ที่สามารถสร้างและแก้ไขเอกสารร่วมกันแบบออนไลน์ได้ ซึ่งเครื่องมือทั้งสองตัวมีความสามารถในการจัดการเอกสารรายงานโครงงานร่วมกันของสมาชิกภายในกลุ่มได้เป็นอย่างดี

ในการจัดทำรายงานโครงงานนักเรียนจะได้ใช้ทักษะการเขียนเพื่อเรียบเรียงความคิดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น เขียนแสดงความคิดเห็น เขียนบอกสาเหตุและผลลัพธ์ เขียนเปรียบเทียบ เขียนคำจำกัดความ เขียนกระบวนการ เขียนพรรณนา เป็นต้น   ซึ่งการเขียนเหล่านี้จะปรากฏอยู่ในรายงานโครงงานแทบทั้งสิ้น ดังนั้นในช่วงแรกครูจึงต้องแนะนำวิธีการเขียนรายงานที่ถูกต้องให้กับนักเรียนอย่างใกล้ชิด (พิมพ์พันธ์ เดชะคุปต์, พเยาว์ ยินดีสุข และราเชน มีศรี)

ภาพที่ 5 ตัวอย่างเว็บไซต์ Google Drive

ขั้นตอนที่ 7 นำเสนอผลงานและเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะ

          เมื่อนักเรียนดำเนินการจนกระทั่งได้รับคำตอบตามวัตถุประสงค์ของโครงงานแล้วจะต้องเผยแพร่ผลการศึกษาให้กับครู เพื่อน และผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ โดยสร้างชิ้นงานเพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมให้ผู้อื่นเข้าใจผลสำเร็จของโครงงาน โดยสามารถทำได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับลักษณะของโครงงาน เช่น หากเป็นชิ้นงานโครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ ลักษณะของชิ้นงานที่จะนำเสนออาจประกอบด้วยตัวสิ่งประดิษฐ์ร่วมกับสไลด์นำเสนอหรือแผงโครงงาน  หากเป็นโครงงานประเภทสำรวจหรือโครงงานที่เป็นเชิงคุณภาพอาจนำเสนอด้วยแผนภาพหรือสไลด์หรือวิดีโอนำเสนอ เป็นต้น (ปรียา บุญญสิริ,2553)

ภาพที่ 6 ตัวอย่างการสร้างชิ้นงานนำเสนอ

มีโซเชียลมีเดียจำนวนมากที่นักเรียนสามารถนำมาใช้ในการสร้างชิ้นงานนำเสนอได้ เช่น สร้างสไลด์สำหรับนำเสนออย่าง Prezi.com หรือ Slideshare.net ที่สามารถสร้างและแปลงงานนำเสนอที่สร้างไว้แล้วจากโปรแกรมไมโครซอฟท์เพาเวอร์พอยท์ให้สามารถนำเสนอออนไลน์ได้ สร้างอัลบัมรูปด้วยเว็บไซต์ประเภทแบ่งปันที่นักเรียนสามารถอัพโหลด เก็บรักษา แก้ไข และจัดการรูปภาพบนอินเตอร์เน็ตได้ เช่นบริการของ Flickr.com และ Photobucket.com รวมถึงโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่าง Facebook และ Google+ ที่อนุญาตให้อัพโหลดรูปภาพเก็บไว้ได้ โดยครูอาจให้นักเรียนสร้างผลงาน (Portfolios) หรือสร้างเรื่องราว (Creative Story) โดยใช้รูปภาพ สร้างอัลบัมของกลุ่ม ให้นักเรียนนำเสนอรูปประจำสัปดาห์ สร้างสไลด์โชว์รูปภาพ สร้างและแบ่งปันงานนำเสนอประเภทวิดีโอด้วยโซเชียลมีเดียประเภทที่ให้บริการอัพโหลด แบ่งปัน และตัดต่อวิดีโอ เช่น YouTube.com, Metacafe.com, Vimeo.com, Blip.tv เป็นต้น สร้างงานนำเสนอแผนภาพความคิดด้วยCoggle.it, Mindmeister.com, Mind42.com สร้างสรรค์การ์ตูนเพื่อเล่าเรื่องราวด้วย Makebeliefscomix.com, Readwritethink.org, Learnenglishkids.britishcouncil.org สร้างวิดีโอแอนิเมชั่นด้วย Wideo.com, Powtoon.com, Goanimate.com สร้างไทม์ไลน์ (Time Line) นำเสนอลำดับเหตุการณ์การดำเนินโครงงานตามลำดับเวลาด้วย Dipity.com สร้างโปสเตอร์มัลติมีเดียด้วย Glogster.com ซึ่งโซเชียลมีเดียเหล่านี้เป็นสื่อที่เข้าใจได้ง่าย และยังจะช่วยดึงดูความสนใจของผู้ชมได้เป็นอย่างดี (Poore, 2013)

นักเรียนจะต้องระดมสมองเพื่อหาแนวคิดในการผลิตชิ้นงานนำเสนอ ออกแบบชิ้นงาน วิเคราะห์และประเมินความคิดของสมาชิกแต่ละคน ปรับแต่งเพื่อให้ได้ความคิดใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่เป็นรูปธรรมและใช้ประโยชน์ได้ การสร้างชิ้นงานเหล่านี้จะช่วยพัฒนาทักษะการรับรู้สื่อร่วมกับทักษะความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม  ในการคิดสร้างสรรค์ชิ้นงาน และใช้ความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการพัฒนาเป็นชิ้นงานให้เป็นรูปธรรม โดยก่อนจะถึงขั้นตอนการนำเสนอ สมาชิกในกลุ่มจะต้องช่วยกันประเมินความสมบูรณ์และความถูกต้องของชิ้นงานนำเสนออีกครั้ง (Peer Evaluation) (The Partnership for 21st Century Skills, 2009; Bender, 2012)

หลังจากการสร้างชิ้นงานนำเสนอ นักเรียนจะนำชิ้นงานเหล่านั้นไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นได้รับทราบครูต้องไม่ลืมว่าการเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการทำโครงงานของนักเรียน ถ้านักเรียนเชื่อว่าพวกเขากำลังแก้ปัญหาในโลกความจริงและเป็นสิ่งที่ชุมชนให้ความสำคัญ จะทำให้พวกเขามีความตั้งใจและกระตือรือร้นทำงานมากขึ้น  ในการนำเสนอผลงานอาจมีการจัดนิทรรศการร่วมด้วย โดยเชิญนักเรียนห้องอื่น ๆ ครู และผู้ปกครองมาชมนิทรรศการ โดยนักเรียนแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในการนำเสนอการดำเนินโครงงานให้ผู้มาชมนิทรรศการฟัง (วัฒนา มัคคสมัน,2554;  Bender, 2012)

ภาพที่ 7 ตัวอย่างการนำเสนอชิ้นงานโครงงาน

นอกเหนือจากการนำเสนอผลจาการทำโครงงานให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้รับฟังแล้ว ในยุคดิจิตอลนี้นักเรียนสามารถบันทึกงานนำเสนอในรูปแบบดิจิตอล และเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียได้ทั่วโลก ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ Prezi.com ที่ให้บริการสร้างและเผยแพร่งานนำเสนอ เว็บไซต์ Flipbooksoft.com และ Slideshare.net ให้บริการแปลงไฟล์เอกสารให้อยู่ในรูปแบบงานสำหรับการนำเสนอ เว็บไซต์ Youtube และ Vimeo ให้บริการจัดเก็บและแบ่งปันวิดีโอที่สามารถรับชมได้ทั่วโลก

ขั้นตอนนี้นักเรียนจะได้ใช้ทักษะการนำเสนอเพื่อให้การนำเสนอเป็นไปอย่างน่าสนใจ รวมถึงการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการนำเสนอและสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทักษะการสื่อสาร (The Partnership for 21st Century Skills, 2009)

ภาพที่ 8 ตัวอย่างเว็บไซต์ Flipbooksoft.com

 

ขั้นตอนที่ 8 ประเมินผลการทำโครงงาน

          การเรียนแบบโครงงานเป็นวิธีการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 21 เน้นความเข้าใจที่ลึกซึ้ง กระบวนการแก้ปัญหา และการลงมือปฏิบัติจริง ดังนั้นกรอบการประเมินในการเรียนแบบโครงงานจึงมีความแตกต่างจากการประเมินการเรียนแบบเก่า และต้องใช้วิธีการประเมินที่หลากหลายเพิ่มเข้ามา เช่น การประเมินตนเอง การประเมินผลงาน การประเมินตามสภาพจริง และการประเมินโดยเพื่อนในกลุ่มหรือในชั้นเรียน  ทั้งนี้การเลือกใช้การประเมินรูปแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของโครงงานที่ทำ เช่น โครงงานคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ครูอาจประเมินจากเว็บสะสมผลงานอิเล็คทรอนิคส์ (Electronic Portfolios) ซึ่งอาจอยู่ในรูปของบล็อกอย่าง WordPress.com, Pathbrite.com หรือ Edublogs.org ร่วมกับแบบประเมินแบบรูบริค (Rubric) เพื่อประเมินทักษะการวิจัย ทักษะการนำเสนอ และทักษะการใช้เทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่งเกณฑ์การประเมินแบบรูบริคเป็นเครื่องมือสำหรับให้คะแนนซึ่งสามารถใช้ประเมินได้ทั้งนักเรียน ครู และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ โดยเฉพาะใช้ประเมินทักษะที่สำคัญ มีเว็บไซต์ที่ให้บริการสร้าง แก้ไขและดาวน์โหลดเกณฑ์ประเมินแบบรูบริคอยู่หลายเว็บไซต์ เช่น Rubistar.4teachers.org, Rcampus.com, Rubrics4teachers.com เป็นต้น (Greenstein, 2012; Bender, 2012; Moutsund, 2009)

จะเห็นได้ว่าการประเมินการเรียนแบบโครงงานจะเน้นประเมินจากสมรรถนะการปฏิบัติงาน มีความความยืดหยุ่น มักไม่เป็นทางการ ใช้วิธีการที่หลากหลาย ใช้การสื่อสารเป็นส่วนหนึ่งของการประเมิน เช่น ผลย้อนกลับจากเพื่อน ครู ผู้ปกครอง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยการประเมินการเรียนแบบโครงงานจำเป็นต้องวัดทั้งความรู้ความเข้าใจมาตรฐานตามหลักสูตรและทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 (Greenstein, 2012)

สรุป

ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งด้านเทคโนโลยีและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การสอนยุคสมัยใหม่จึงต้องเปลี่ยนแปลงไป วิธีการเรียนการสอนเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบที่เน้นพัฒนาทักษะมากกว่าความรู้ การเรียนแบบโครงงานเป็นรูปแบบการเรียนหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับการเรียนในศตวรรษที่ 21 เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่เน้นการปฏิบัติตามความสนใจของนักเรียน มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอนอย่างแพร่หลาย เครื่องมือตัวหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานได้เป็นอย่างดีคือ “โซเชียลมีเดีย” การเรียนแบบโครงงานร่วมกับโซเชียลมีเดียจะเริ่มจากการเตรียมความพร้อมของครู นักเรียน วัสดุอุปกรณ์ และโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียน จากนั้นนักเรียนเลือกปัญหาที่จะศึกษา โดยมีครูเป็นผู้จุดประกายและให้คำปรึกษา นักเรียนและครูร่วมกันวางแผนการทำโครงงานในรูปแบบของแผนปฏิบัติการหรือเค้าโครงโครงงาน โดยกำหนดวัตถุประสงค์ สมมติฐาน ขอบเขตการศึกษา และวิธีการศึกษา ศึกษาหลักการทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ลงมือปฏิบัติตามแผน โดยเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม เขียนรายงาน เผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะ และประเมินโครงงาน ซึ่งในแต่ละขั้นตอนนักเรียนสามารถเลือกใช้โซเชียลมีเดียที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของนักเรียนในยุคใหม่ นอกจากช่วยพัฒนาสมรรถนะและทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 แล้ว จากผลการวิจัยยังพบว่าการเรียนแบบโครงงานจะทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าการเรียนแบบเดิม หากครูออกแบบการจัดการเรียนรู้อย่างรัดกุมและครอบคลุมทุกมาตรฐานของหลักสูตร (Boaler, 2002; Geier et al., 2008; Stepien et al, 1992; Strobel & Barnveld, 2008 cited in Bender, 2012)

บรรณานุกรม

ทวีศักดิ์ จินดานุรักษ์ และ ธงชัย ชิวปรีชา. (ม.ป.ป.). ชุดพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ : ชุดที่ 6 ทักษะการสื่อความหมาย. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. ค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2556   จาก สาขาวิชาศึกษาศาสตร์: http://www.stou.ac.th/Schools/Sed/upload/   %E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%2     006.pdf

ธีระ สินเดชารักษ์. (16 สิงหาคม 2553). การวิเคราะห์ข้อมูลและแปลความหมาย (Data Analysis and    Interpretation). ค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2556 จาก ศูนย์การเรียนรู้ทางการวิจัย:          http://rlc.nrct.go.th/ewt_dl.php?nid=663

บุญเลี้ยง ทุมทอง. (2550). แนวทางการพัฒนาการสอนกระบวนการคิด. มหาสารคาม: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

ปรียา บุญญสิริ. (2553). กลวิธีการจัดการเรียนรู้โดยการทำโครงงานระดับประถมศึกษา. กรุงเทพฯ:        พัฒนาคุณภาพวิชาการ.

พิมพันธ์ เดชะคุปต์, พเยาว์ ยินดีสุข, และ ราเชน มีศรี. (2553). การสอนคิดด้วยโครงงาน : การเรียนการ   สอนแบบบูรณาการ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ลัดดา ภู่เกียรติ. (2552). การสอนแบบโครงงานและการสอนแบบใช้วิจัยเป็นฐาน : งานที่ครูประถมทำได้. กรุงเทพมหานคร: บริษัท สาฮะแอนด์ชันพริ้นติ้ง จำกัด.

วัฒนา มัคคสมัน. (2554). การสอนแบบโครงการ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วิจารณ์ พานิช. (2555). วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์.

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2550). การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน. กรุงเทพฯ: กลุ่มส่งเสริม      นวัตกรรมการเรียนรู้ของครูและบุคลากรทางการศึกษา.

Bender, W. N. (2012). Project-Based Learning : Differentiating Instruction for the 21st        Century. California: CORWIN A SAGE Company.

Greenstein, L. (2012). Assessing 21st Century Skills : A guide to evaluating mastery and    authentic learning . California : CORWIN A SAGE Company.

Moursund, D. (2009). Project-Based Learning : Using Information Technology. New Delhi:   Vinod Vasishtha for Viva Books Private limited.

Partnership for 21st Century Skills. (2009, December). FRAMEWORK FOR 21ST CENTURY    LEARNING: Partnership for 21st Century Skills. Retrieved November 12, 2013, from     Partnership for 21st Century Skills:           http://www.p21.org/storage/documents/P21_Framework_Definitions.pdf

Poore, M. (2013). Using social media in classroom : a best practice guide. London: SAGE   Publications Ltd.

Taylor, L. M., & Fratto, J. M. (2012). Transforing Learning through 21st Century Skill. New   Jersey.

ดาวน์โหลดไฟล์ PDF ==>8 ขั้นตอนการเรียนแบบโครงงานร่วมกับโซเชียลมีเดียเพื่อส่งเสริมทักษะในศตวรรษที่ 21